วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน หรือ Osteoporosis

กระดูกพรุน คือ ภาวะที่มีเนื้อกระดูกบางตัวลง เนื่องจากมีการสร้างกระดูกน้อยกว่าการทำลายกระดูก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการหัก หรือยุบตัวได้โดยง่าย

จุดที่มีการหักบ่อย ได้แก่
กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ก่อให้เกิดปัญหาในผู้สูงอายุ ซึ่ง 50% ของสตรีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน จัดได้ว่าเป็นภัยเงียบร้ายแรงสำหรับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีแล้วราว 7 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยจะแสดงอาการเมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรง ทั้งอาการปวด โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกหัก ทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอาจพิการถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทุพพลภาพ การสูญเสียทางเศรษฐกิจและการสูญเสียชีวิต เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการแบบทันทีทันใด อาการแสดงจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ซึ่งการที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่นในระดับสูงสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูดพรุน ผู้สูงอายุควรมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักโภชนาการ ดังต่อไปนี้

1. การบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง

เนื่องจากแคลเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกและป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก การเก็บหรือซ่อมแซมการสูญเสียกระดูกจะไม่เกิดขึ้นถ้าร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ และมีรายงานการศึกษาพบว่าแบบแผนการบริโภคอาหารของคนไทยจะได้รับแคลเซียมจากอาหารต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ควรได้ในแต่ละวัน คือ เฉลี่ยรับละ 384 มก./วัน ขณะที่ปริมาณที่ควรได้รับคือ 800 มก./วัน ทำให้มีแคลเซียมสะสมอยู่เนื้อกระดูกน้อยอยู่แล้วดังนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงยิ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาปริมาณแคลเซียมนั้นไว้ให้ดีที่สุด ดังนั้นในผู้สูงอายุจึงต้องรับประทานอาหาร ที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความความหนาแน่นของเนื้อกระดูกและป้องกันการเกิดโรคกระพรุน

สำหรับแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต เป็นต้น ในน้ำนมจะมีปริมาณแคลเซียมสูง คือ 240 มิลลิกรัมต่อปริมาณของน้ำนม 200 มิลลิลิตรและแคลเซียมในน้ำนมจะอยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ส่วนแคลเซียมในอาหารจะจับกับสารอาหารอื่น ๆ ทำให้สัดส่วนการดูดซึมลดลง ผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถบริโภคนมเนื่องจากไม่มีเอ็นไซม์สำหรับย่อยนม ทำให้มีอาการท้องเดิน สามารถรับประทานอาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมสูงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย ได้แก่ นมถั่วเหลือง ปลาเล็กปลาน้อย ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กะปิ กุ้งแห้ง เต้าหู้ ถั่วเหลือง งาดำ ผักคะน้า มะเขือพวง ใบยอ เป็นต้น

การเพิ่มการบริโภคแคลเซียม ควรเป็นการเพิ่มการบริโภคโดยใช้อาหารเป็นหลักไม่แนะนำให้บริโภคในรูปสารสังเคราะห์ยกเว้นการอยู่ในความดูแลแพทย์ เพราะอาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ได้กรณีที่ได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณที่มากเกิน คือ มากกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อวัน อาจก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการขาดน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึม หมดสติ เกิดนิ่วในไต ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ท้องผูก แน่นท้องเป็นต้น

2. การบริโภคอาหารที่มีวิตามินดี

เนื่องจากวิตามินดีเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระดูก ช่วยสร้างโปรตีนในการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปโดยปกติและช่วยในการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น ในคนสูงอายุมีโอกาสขาดวิตามินดีค่อนข้างมากเนื่องจากรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีในปริมาณน้อยและได้รับแสงแดดน้อยเกินไป ซึ่งโดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินดี 600-800 IU/วัน เมล็ดธัญญาพืชทั้งเปลือก ขนมบัว มาการีนและจากแสงแดด เป็นต้น ดังนั้นเพื่อการมีกระดูกที่แข็งแรงร่างกายควรได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที/วัน

3. การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่
  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากสารกลูคากอนที่เกิดจากการเผาผลาญจากสารอาหารโปรตีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นการรับประทานอาหารเหล่านี้จำนวนมากจึงทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากอาหารรสเค็มมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้นและขับแคลเซียมตามออกมาด้วย จึงทำให้การสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เนื่องจากน้ำชา กาแฟ มีส่วนประกอบของคาเฟอีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคน้ำอัดลม เนื่องจากมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูงฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้แคลเซียมในร่างกายลดลงได้

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมากนั้นจะทำให้แคลเซียมลดต่ำลง

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตีนในบุหรี่ขัดขวางการนำแคลเซียมไปใช้ ทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ลดลง

  • การหลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหารที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาบางประเภท เช่น ยาสเตรียรอยด์ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาป้องกันอาการชัก ฮอร์โมนธัยรอยด์ เฮพาริน มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง และทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงในที่สุด

การที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ประกอบกับการที่ผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเผลอตัวไปกับกระแสสังคมที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วจนทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินเท่าที่ควร ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ไม่พึงประสงค์ มีการกินอาหารบางอย่างมากเกินไป บางอย่างน้อยเกินไปทำให้ได้รับคุณค่าอาหารที่ไม่สมดุลเป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว การกินอาหารมิใช่จะเป็นเพียงการกินเพื่อให้อิ่มหรือเพื่อให้ยังชีพ แต่จำเป็นที่ต้องกินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ไม่เป็นโรค และมีจิตใจแจ่มใสเพื่อให้มีหลักของการบริโภคอาหารที่ดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น