วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อาหารหน้าหนาว

สำหรับ การรับประทานอาหารในช่วงฤดูหนาวเราควรเลือกรับประทานอาหารที่ร้อนและปรุง เสร็จใหม่ๆ ควรมีรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย และรสเผ็ด เช่น แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก แกงป่า สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริก เพราะธรรมชาติจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรในฤดูต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ในฤดูหนาว มักจะมีสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น สะเดา ดอกแค ขี้เหล็ก

สะเดา มีรสขม เมื่อกินแล้วจะช่วยแก้ไข้ ทำให้เจริญอาหาร
ขี้เหล็ก มีสรรพคุณช่วยระบาย
ดอกแค แก้ไข้หัวลม

เราควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านที่มีอยู่ตามฤดูกาล ส่วนการเลือกเครื่องดื่มในช่วงหน้าหนาวนี้ ควรจะเป็นเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำขิง ชาสมุนไพร เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ แก้หวัด ซึ่งป้องกันการเป็นหวัดในช่วงนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

อาบน้ำสมุนไพรหน้าหนาว

การอาบน้ำอุ่นในฤดูหนาวจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพราะในฤดูหนาว คนส่วนใหญ่มักจะเป็นหวัด คัดจมูก และคันตามผิวหนัง ซึ่งหากนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการคันมาต้มอาบแทนน้ำเปล่า ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ดี

สมุนไพร ที่หาได้ง่าย ที่ควรนำมาต้มมีดังนี้

- ยอดผักบุ้ง จำนวน 5 ยอด ใช้รักษาอาการคัน
- ใบมะกรูด จำนวน 3-5 ใบ แก้วิงเวียน ช่วยให้หายใจสบาย
- ต้นตะไคร้ จำนวน 3 ต้น บำรุงธาตุไฟ
- หัวไพล จำนวน 2-3 หัว ลดอาการอักเสบ ปวด บวม
- ใบหนาด จำนวน 3-5 ใบ ช่วยบำรุง แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลือง
- หัวขมิ้นชัน จำนวน 2-3 หัว ช่วยสมานแผล แก้คันตามผิวหนัง
- การบูร จำนวน 15 กรัม ช่วยบำรุงหัวใจ
- หัวหอมแดง จำนวน 3-5 หัว แก้หวัดคัดจมูก

เพียงนำสมุนไพร ทั้งหมดมาต้มรวมกัน ผสมน้ำเย็นให้พออุ่น แล้วนำมาอาบ

สรรพคุณ
- ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
- ลดอาการคันตามผิวหนัง
- ช่วยให้หายใจโล่ง

แค่นี้ก็จะรู้สึกสบายตัว ไม่ต้องกังวลกับฤดูหนาวแล้วค่ะ

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กินอาหารอะไรดีในช่วงน้ำท่วม

เภสัชกรหญิง (ภญ.) สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำเสนอเมนูกล้วยตาก โดยนำกล้วยน้ำว้าไปชุบน้ำเกลือ แล้วตากแดดจัดๆ แค่ 3 วัน เก็บไว้กินได้เป็นเดือน สารอาหารในกล้วยตาก ถือเป็นสุดยอดอาหารในช่วงน้ำท่วม มีครบทุกหมู่ ที่สำคัญคือ กินกล้วยแล้วช่วยให้อารมณ์ดี คลายเครียด


ภญ.สุภาภรณ์ หรือหมอต้อม บอกว่าบะหมี่สำเร็จรูปก็สามารถปรุงแบบประยุกต์ เพื่อให้ครบคุณค่าทางอาหาร และสู้กับภาวะหลายอย่างที่รุมเร้าระหว่างน้ำท่วมได้


"ถ้ายังพอมีเวลา หรือยังสามารถลุยน้ำออกมาซื้อของได้ อยากจะแนะนำว่า ให้พยายามหาเครื่องเทศจำพวก หอม กระเทียม ขมิ้น ใบกะเพรา และพริกไทย มาเก็บไว้ในครัว กินกระเทียมทำให้จิตใจฮึกเหิม ต้านอาการซึมเศร้า ปรับสมดุลสภาพจิตใจ ขมิ้น หรือขมิ้นชัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ขับลม พริกไทย ช่วยปรับสมดุลระบบประสาท มีเส้นใย ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ หัวหอม ทั้งหอมแดงและหอมหัวใหญ่ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา คลายเครียด ลดอาการหดหู่


"เมนูประยุกต์ที่อยากแนะนำคือต้มบะหมี่สำเร็จรูปก็ลองใส่กระเทียมลงไปด้วยรสชาติจะดีขึ้นมาก เพิ่มความหอมมันให้บะหมี่และช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารขึ้นมากขึ้น ไข่และเนื้อสัตว์ก็ใส่ลงไป หรืออาจจะต้มบะหมี่แล้วใส่ขมิ้นชันลงไป ถ้าไม่มีขมิ้นสด ก็ใช้ขมิ้นชันแคปซูล แกะแคปซูลโรยผงขมิ้นชันลงไปกลายเป็นบะหมี่ต้มขมิ้น อร่อยดีนะ" ภญ.สุภาภรณ์บอก


คุณหมอต้อมบอกด้วยว่า อาหารที่มีรสเปรี้ยว จำพวกมะขาม มะม่วง มะนาว หรือกระทั่งน้ำส้มสายชู ถ้ามีก็ควรเติมลงไปในอาหารบางอย่างได้ เช่น ใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะรสเปรี้ยวช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้ชีวิต


"การกินแต่แป้งและน้ำตาลเพียงอย่างเดียว จะทำให้ก้าวร้าวแถมจิตใจหดหู่ การเติมเครื่องเทศจะช่วยปรับสมดุลร่างกาย ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคที่อาจจะมากับน้ำท่วมบางโรคได้ดี" ภญ.สุภาภรณ์กล่าว


รู้แล้วว่ากินอย่างไรสู้น้ำท่วม ผู้ประสบภัยทั้งหลายพร้อมที่จะตั้งโต๊ะกินกันแล้วหรือยัง...

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 พ.ย. 2554