วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กระชาย



กระชายเหลือง มีลำต้นใต้ดินเรียกเหง้า มีรากทรงกระบอกปลายแหลมจำนวนมากรวมติดอยู่ที่เหง้าเป็นกระจุก มีกลิ่นหอม นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น ใส่ในผัดเผ็ด แกง ที่ใช้เนื้อสัตว์เพื่อดับกลิ่นคาว หรือใช้เป็นเครื่องปรุงเพิ่มความหอม เช่น ใส่ในน้ำยาของขนมจีนน้ำยา แกงป่า กระชายมี 3 ประเภท คือ กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง

สรรพคุณ

หมอยาพื้นบ้านในประเทศไทยใช้เหง้าและรากของกระชายแก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด แก้โรคกระเพาะ รักษาแผลในปาก แก้ตกขาว กลาก เกลื้อน ใช้เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง และใช้บำบัดโรคกามตายด้าน

สรรพคุณทางยา
  1. แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ  แก้ลมจุกเสียด
    • น้ำมันหอมระเหยของกระชายมีฤทธิ์บรรเทาอาการหดตัว ของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหาร
    • สารสกัดกระชายมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย E. coli ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแน่นจุกเสียด
    • สาร cineole ในกระชายมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงลดอาการปวดเกร็ง
  2. แก้โรคกระเพาะ
    • สารสกัดจากรากกระชาย มีฤทธิ์ต้านการเจริญของแบคทีเรียกรัมลบ ชื่อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
    • สารสกัดจากรากกระชายนอกจากจะฆ่าเชื้อสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารแล้ว ยัง มีฤทธิ์ลดการอักเสบของแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  3. แก้ตกขาว กลาก เกลื้อน
    • สาร pinostrobin ที่สกัดจากกระชายมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคกลาก 3 ชนิด คือ Trichophyton mentagrophytes, Microsporum gypseum และ Epidermophyton floccosum
    • สารสกัดจากกระชาย มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อ Candida albican ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการตกขาว
  4. เป็นยาอายุวัฒนะ รากกระชายมีสาร pinostrobin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ การบริโภคกระชายเป็นประจำอาจป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการอักเสบเรื้อรังในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคหลอดเลือดแข็งตัว ระบบประสาททำงานได้อย่างดี ปราศจากโรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคมะเร็ง และตับทำงานกำจัดสารพิษได้ดี จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
  5. เป็นอาหารเสริมป้องกันการเกิดมะเร็ง
    • สาร pinostrobin จากกระชายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเอนไซม์ที่ใช้กำจัดสารพิษในตับ
    • สาร pinostrobin จากกระชายมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ topoisomerase I ในกระบวนการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง
    • สาร pinostrobin จากกระชายเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์
  6. บำบัดโรคนกเขาไม่ขัน หรือโรคอีดี (Erectile Dysfunctional หรือ ED)เนื่องจากสาร cardamonin และ alpinetin จากกระชาย มีฤทธิ์คลายผนังหลอดเลือดแดงมีเซ็นเทอริก (mesenteric arteries) 
  7. ฤทธิ์ต้านจุลชีพสารสกัดคลอโรฟอร์มและเมทานอลจากรากกระชายมีฤทธิ์ต้านการเจริญของพยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ ที่ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากกับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วิธีใช้
  1. บรรเทาอาการจุกเสียด นำเหง้าแห้งประมาณครึ่งกำมือต้มเอาน้ำดื่ม
  2. บำบัดโรคกระเพาะ กินรากสดแง่งเท่านิ้วก้อยไม่ต้องปอกเปลือก วันละ ๓ มื้อ ก่อนอาหาร 15 นาทีสัก 3 วัน ถ้ากินได้ให้กินจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้าเผ็ดร้อนเกินไป หลังวันที่ 3 ให้กินขมิ้นสดปอกเปลือกขนาดเท่ากับ 2 ข้อนิ้วก้อยจนครบ 2 สัปดาห์
  3. บรรเทาอาการแผลในปาก ปั่นรากกระชายทั้งเปลือก 2 แง่งกับน้ำสะอาด 1 แก้ว ในโถปั่นน้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนกาแฟโบราณ กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้กลั้วปากวันละ 3 เวลาจนกว่าแผลจะหาย ถ้าเฝื่อนเกินให้เติมน้ำสุกได้อีก ส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งใช้เก็บในตู้เย็นได้ 1 วัน
  4. แก้ฝ้าขาวในปาก บดรากกระชายที่ล้างสะอาด ไม่ต้องปอกเปลือก ใส่โถปั่นพอหยาบ  ใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น กินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ วันละ 3 มื้อก่อนอาหาร 15 นาที สัก 7 วัน
  5. ฤทธิ์แก้กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า คันศีรษะจาก  เชื้อรา นำรากกระชายทั้งเปลือกมาล้างผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น แล้วบดให้เป็นผงหยาบ เอาน้ำมันพืช (อาจใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้) มาอุ่นในหม้อใบเล็กๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย หุง (คนไปคนมาอย่าให้ไหม้) ไฟอ่อนๆ สักพักราว 15-20 นาที กรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชาใช้ทาแก้กลาก เกลื้อน
  6. แก้คันศีรษะจากเชื้อรา ให้เอาน้ำมันที่ได้จากข้อ 5 ไปเข้าสูตรทำแชมพูสระผมสูตรน้ำมันจากที่ไหนก็ได้ โดยใช้แทนน้ำมันมะพร้าวในสูตร  หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผม ให้เพิ่มปริมาณน้ำมันพืชอีก 1 เท่าตัว โกรกด้วยน้ำมันกระชายสัก 5 นาที นวดให้เข้าหนังศีรษะ แล้วจึงสระผมล้างออก
  7. ฤทธิ์เป็นยาอายุวัฒนะ ผงกระชายทั้งเปลือกบดตากแห้งปั้นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง กินวันละ 3 ลูกก่อนเข้านอน ตำรับนี้เคยมีผู้รายงานว่าใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้ หรือใช้กระชายตากแห้ง  บดผงบรรจุแคปซูล แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินวันละ 1 แคปซูลตอนเช้าก่อนอาหารเช้า ในสัปดาห์แรก วันละ 2 แคปซูลตอนเช้าในสัปดาห์ที่ 2
  8. ฤทธิ์แก้โรคนกเขาไม่ขัน (โรคอีดี)
    • วิธีที่ 1 ใช้ตามตำราแก้ฝ้าขาวในปาก อาการจะเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 3-4
    • วิธีที่ 2 รากกระชายตากแห้งบดผงบรรจุแคปซูล แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินวันละ 1 แคปซูลตอนเช้าก่อนอาหารเช้าในสัปดาห์แรก  วันละ 2 แคปซูลตอนเช้าในสัปดาห์ที่ 2  ถ้าไม่เห็นผลกินอีก 2 แคปซูลก่อนอาหารเย็น หรือกลับไปใช้วิธีที่ 1
    • วิธีที่ 3 เพิ่มกระชายในอาหาร ทำเป็นกับข้าวธรรมดาก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ (ทุบแบบหัวข่า) แกงเผ็ด (หั่นเป็นฝอย) กินทุกวัน พร้อมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เห็นผลใน 1 เดือน
  9. ฤทธิ์บำรุงหัวใจนำเหง้าและรากกระชายปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชาชงน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา
  10. ป้องกันโรคอัลไซเมอร์เอากระชายมาตำ หรือปั่นแล้วคั้นน้ำ จะได้หัวเชื้อกระชาย  นำไปผสมกับน้ำใบบัวบกดื่ม

ชื่อสามัญ : กระชาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae

ชื่ออื่นๆ : กะแอน ละแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (ภาคอีสาน) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) จี๊ปู  ซีฟู (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เป๊าะซอเร้าะ, เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)

ชื่ออังกฤษ : Chinese Deys


ที่มา : http://www.doctor.or.th/node/1321

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น