วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ใบย่านาง

ย่านางเป็นพืชสมุนไพรที่มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ หมอแผนไทยจะใช้รากย่านางเข้าตำรับยาแก้ไข้ในตำรับยา 5 ราก (ประกอบด้วย รากย่านาง รากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร) หรือเบญจโลกวิเชียร หรือแก้วห้าดวง ซึ่งเป็นหนึ่งในตำรับยาแก้ไข้ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม

ย่านางเป็น พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารและเป็นยามาตั้งแต่โบราณ หมอยาโบราณภาคอีสาน เรียกชื่อยาของย่านางว่า “หมื่นปีไม่แก่”


ชาวไทยภาคอีสานและภาคเหนือนำใบย่านางมาใช้ประกอบอาหาร โดยเอาน้ำคั้นจากใบทำน้ำแกง คือแกงหน่อไม้หรือต้มเปรอะ แกงขี้เหล็ก แกงหวาย ลาบเทา ต้มหน่อไม้ การประกอบอาหารดังกล่าวนี้ใช้น้ำคั้นใบย่านางจะช่วยฆ่าพิษหรือดับพิษของอาหารที่ประกอบนั้น เช่น หน่อไม้ จัดเป็นอาหารแสลงที่ทำให้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเข่า ถ้าเป็นหญิงมักมีตกขาว หรือคันในช่องคลอดร่วมด้วย

ย่านาง นั้นมีรสจืด และเป็นยาเย็น มีสรรพคุณในการดับพิษร้อน กลุ่มนักธรรมชาติบำบัดจึงได้นำเอาความรู้ตรงนี้มาใช้ประโยชน์ แนะดื่มน้ำคั้นจากใบย่านาง เป็นน้ำคลอโรฟิลล์เพิ่มความสดชื่น และยังใช้ในการปรับสมดุลร้อนเย็นในร่างกาย เชื่อว่าสาเหตุของโรคต่างๆ ในร่างกายมาจากความร้อนที่ไม่สมดุลกับความเย็น หรือความเจ็บป่วยนั้นมักมีความร้อนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้ มะเร็ง ปวดแขนขา แสบร้อนเบ้าตา เป็นผดผื่นคัน แพ้อากาศ การใช้ยาเย็นจึงจะช่วยขับความร้อนในระบบต่างๆ เหล่านั้น และช่วยให้ร่างกายดีขึ้น รวมถึงเป็นการล้างสารพิษที่สะสมในระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม

อาการหรือโรคที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกินไป ซึ่งสามารถใช้ใบย่านางปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาได้ มีดังต่อไปนี้
  1. ตาแดง ตาแห้ง แสบตา ปวดตา ตามัว ขี้ตาข้น เหนียว หรือไม่ค่อยมีขี้ตา
  2. มีสิว ฝ้า
  3. มีตุ่ม แผล ออกร้อนในช่องปาก เหงือกอักเสบ
  4. นอนกรน ปากคอแห้ง ริมฝีปากแห้งแตกเป็นขุย
  5. ผมหงอกก่อนวัย รูขุมขน ขยายโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก คอ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
  6. ไข้ขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว
  7. มีเส้นเลือดขอดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เส้นเลือดฝอยแตกใต้ผิวหนัง มีรอยจ้ำเขียว คล้ำ
  8. ปวดบวมแดงร้อนตามร่างกายหรือตามข้อ
  9. กล้ามเนื้อเกร็งค้าง กดเจ็บ เป็นตะคริวบ่อยๆ
  10. ผิวหนังผิดปกติคล้ายรอยไหม้ เกิดฝีหนอง น้ำเหลืองเสียตามร่างกาย
  11. ตกกระสีน้ำตาลหรือสีดำตามร่างกาย
  12. ท้องผูก อุจจาระแข็งหรือเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายขี้แพะ บางครั้ง มีท้องเสียแทรก
  13. ปัสสาวะมีปริมาณน้อย สีเข้ม ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ถ้าเป็นมากๆ จะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีเลือดปนออกมาด้วย มักมีปัสสาวะช่วงเที่ยงคืนถึงตี 2 (คนที่ร่างกายปกติ สมดุล จะไม่ตื่นปัสสาวะกลางดึก)
  14. ออกร้อนท้อง แสบท้อง บางครั้งมีอาการ ท้องอืดร่วมด้วย
  15. มีผื่นที่ผิวหนัง ปื้นแดงคัน หรือมีตุ่มใสคัน
  16. เป็นเริม งูสวัด
  17. หายใจร้อน เสมหะเหนียวข้น ขาวขุ่น สีเหลืองหรือสีเขียว บางทีเสมหะพันคอ
  18. โดยสารยานยนต์ มักอ่อนเพลียและหลับขณะเดินทาง
  19. เลือดกำเดาออก
  20. มักง่วงนอน หลังกินข้าวอิ่มใหม่ๆ
  21. เป็นมากจะยกแขนขึ้นไม่สุด ไหล่ติด
  22. เล็บมือ เล็บเท้า ขวางสั้น ผุ ฉีกง่าย มีสีน้ำตาลหรือดำคล้ำ อักเสบ บวมแดงที่โคนเล็บ
  23. หน้ามืด เป็นลม วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ มักแสดงอาการเมื่ออยู่ในที่อับ หรืออากาศร้อนหรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกิน หรือทำงานเกินกำลัง
  24. เจ็บเหมือนมีเข็มแทงหรือไฟช็อต หรือร้อนเหมือนไฟเผา
  25. อ่อนล้า อ่อนเพลีย แม้นอนพักก็ไม่หาย
  26. รู้สึกร้อนแต่เหงื่อไม่ออก
  27. เจ็บปลายลิ้น แสดงว่าหัวใจร้อนมากถ้าเป็นมากจะเจ็บแปลบที่หน้าอก และอาจร้าวไปที่แขน
  28. เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง
  29. หิวมาก หิวบ่อย หูอื้อ ตาลาย ลมออกหู หูตึง
  30. ส้นเท้าแตก เจ็บส้นเท้า ออกร้อน บางครั้งเหมือนไฟช็อต
  31. เกร็ง ชัก
  32. โรคที่เกิดจากสมดุลแบบร้อนเกินไป ได้แก่ โรคหัวใจ เป็นหวัดร้อน ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ตับอักเสบ กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ริดสีดวงทวาร มดลูกโต ตกขาว ตกเลือด ปวดมดลูก หอบหืด ไตอักเสบ ไตวาย นิ่วไต นิ่วกระเพาะปัสสาวะ นิ่วถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต โรคเกาต์ ความดันสูง เบาหวาน เนื้องอก มะเร็ง พิษของแมลงสัตว์กัดต่อย

วิธีใช้

ใช้ใบย่านางในการเพิ่มคลอโรฟิล คุ้มครองเซลล์ ฟื้นฟูเซลล์ ปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะไม่สมดุล แบบร้อนเกินไป ดังนี้

  1. เด็กใช้ใบย่านาง 1-5 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว (200-600 ซีซี.)
  2. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานไม่ทน ใช้ 5-7 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
  3. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานทน ใช้ 7-10 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
  4. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างสมส่วนถึงตัวโต ใช้ 10-20 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว โดยใช้ใบย่านางสดโขลกให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ หรือขยี้ใบย่านางกับน้ำหรือปั่นในเครื่องปั่น (แต่การปั่นในเครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง เนื่องจากความร้อนจะไปทำงายความเย็นของใบย่านาง) แล้วกรองผ่านกระชอนเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ ½-1 แก้ว วันละ 2-3 เวลา ก่อนอาหารหรือตอนท้องว่าง หรือผสมเจือจางดื่มแทนน้ำเปล่า ในอุณหภูมิห้องปกติ ควรดื่มภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากทำน้ำใบย่านาง เพราะถ้าเกิน 4 ชั่วโมง มักจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่เหมาะที่จะดื่ม จะทำให้เกิด ภาวะร้อนเกินไป แต่ถ้าแช่ในน้ำแข็งหรือตู้เย็น ควรใช้ภายใน 3-7 วัน โดยให้สังเกตที่กลิ่นเหม็นเปรี้ยวเป็นหลัก
  5. การทำน้ำย่านางอาจผสมน้ำมะพร้าว หรือน้ำเล็กน้อย เพื่อผลทางยาหรือช่วยให้ดื่มง่ายขึ้น
  6. บางคนเป็นโรคหรือมีอาการหนักมาก บางครั้งย่านางเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ทุเลาได้ ให้ใช้พืชฤทธิ์เย็นที่นำมาช่วยเสริม โดยนำมาขยี้ โขลกหรือปั่นรวมกับย่านาง พืชฤทธิ์เย็นที่นำมาเสริมฤทธิ์ย่านางที่มีประสิทธิภาพดีได้แก่ ใบอ่อมแซ่บ 1 กำมือ ใบเตย 1-3 ใบ ผักบุ้ง 5-10 ต้น บัวบก 1 กำมือ เสลดพังพอนตัวเมีย 5-10 ยอด (1 ยอด ยาว 1 คืบ) ใบตำลึงแก่ 1 กำมือ หญ้าปักกิ่ง 1-3 ต้น ว่านกาบหอย 3-5 ใบ เป็นต้น โดยนำมาเสริมเท่าที่จะหาได้ พืชชนิดใดที่หาไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้ และถ้าพืชชนิดใดไม่ถูกกับผู้ที่จะดื่มก็ไม่ต้องมาผสม อาการของพืชที่ไม่ถูกกับร่างกาย คือ เมื่อรับประทานหรือสัมผัสพืชนั้นจะระคายคอ หรือมีอาการไม่สบายบางอย่าง พอผสมกันหลายอย่าง ก็รับประทานได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนแม้ผสมกันหลายอย่าง ก็ยังแสดงอาการผิดปกติอยู่ ก็ให้งดใช้พืชชนิดนั้นเสีย
  7. บางคนไม่ชินกับการรับประทานสด ก็สามารถผ่านไฟอุ่นหรือเดือดได้ไม่เกิน 5 นาที โดยตรวจสอบร่างกายของตนเองว่า ระหว่างรับประทานสดกับผ่านไฟ อย่างไหนรู้สึกสดชื่น สบายหรืออาการทุเลาได้มากกว่าก็ใช้วิธีนั้น
  8. คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ให้ดื่มน้ำย่านางหรือสมุนไพรรวมฤทธิ์เย็นกับกล้วยดิบและขมิ้น โดยใช้กล้วยดิบทั้งเปลือก 1 ลูก แบ่งเป็น 3 ส่วน เท่าๆ กัน นำกล้วยดิบและขมิ้นอย่างละ 1 ชิ้น (ต่อครั้ง) โขลกให้ละเอียด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืน พร้อมดื่มน้ำย่านาง หรือสมุนไพรรวมฤทธิ์เย็น วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการออกร้อนท้องร่วมด้วยให้งดขมิ้น สำหรับกล้วยดิบ หรือขมิ้นอาจใช้เป็นลูกกลอกหรือแคปซูลก็ได้ ใช้กล้วยดิบครั้งละ 3-5 เม็ด 3 เวลา ก่อนอาหาร ส่วนขมิ้นใช้ครั้งละ 1-3 เม็ด 3 เวลา ก่อนอาหาร
  9. สำหรับคนที่มีอาการท้องเสีย ให้ใช้ย่านางปริมาณที่เหมาะสมกับบุคคลดังที่นำเสนอข้างต้น ขยี้กับใบฝรั่งแก่ 3-5 ใบ หรือใบทับทิมครครึ่ง – 1 กำมือ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว ดื่มก่อนอาหาร ครั้งละครึ่ง – 1 แก้ว หรือดื่มบ่อยจนกว่าจะหายท้องเสีย ย่านางสามารถฆ่าเชื้อโรคที่เป็นเหตุให้เกิดอาการท้องเสีย อีกสูตรหนึ่งที่ได้ผลดีมากคือ ดื่มน้ำย่านาง หรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ควบคู่กับสมุนไพรต้ม คือเอาเปลือกสะเดา (ส่วนที่มีรสฝาดขมกึ่งกลางระหว่างเปลือกแข็งนอกสุดและแก่น) ยาว 1 คืบของผู้ป่วย กว้าง 1-2 เซนติเมตร เปลือกมังคุดสดหรือตากแห้ง 1-3 ลูก ใบฝรั่งแก่ 3-5 ใบ ทั้งสามอย่าง รวมกัน ต้มใส่น้ำ 3-5 แก้ว เดือด 5-10 นาที แล้วผสมน้ำตาล 3-5 ช้อนโต๊ะ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือจิบเรื่อยๆ จนกว่าอาการท้องเสียจะหาย
  10. การใช้น้ำย่านางกับภายนอกร่างกาย
    • ใช้น้ำย่านางหรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นเจือจางกับน้ำเปล่าใช้เช็ดตัวลดไข้ได้ อย่างดี หรือใช้ผ้าชุบวางบริเวณที่ปวดออกร้อน ช่วยลดความร้อนของร่างกายและผิวหนัง
    • ผสมน้ำยาสระผม ใช้สระผมได้อย่างดี ช่วยให้ศรีษะเย็น ผมดกดำหรือชะลอผมหงอก
    • 10.3 ใช้ย่านางหรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ผสมดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากให้เหลวพอประมาณ ทาสิว ฝ้า ตุ่ม ผื่น คัน พอกฝีหนัง จะช่วยถอนพิษและแก้อักเสบได้
  11. การประเมินว่า ปริมาณหรือความเข้มข้นพอเหมาะที่จะดื่มหรือไม่
    • ขณะที่ดื่มเข้าไป จะกลืนง่ายไม่ฝืดฝืน ไม่ระคายคอ
    • อาการไม่สบายทุเลาลง ปากคอชุ่ม ร่างกายสดชื่น
    • ถ้าดื่มน้อยไป อาการก็ไม่ทุเลา ถ้าดื่มมากไปก็จะเกิดอาการไม่สบายบางอย่าง หรือในขณะดื่มจะรู้สึกได้ว่าร่างกายจะมีสภาพต้านบางอย่างเกิดขึ้น
  12. สำหรับท่านที่ไม่ค่อยได้รับประทานผักสด ร่างกายก็จะขาดวิตามินและคลอโรฟิล ในใบย่านางมีวิตามิน คลอโรฟิลคุณภาพดี มีพลังสด พลังชีวิตประสิทธิภาพสูง ในการปกป้อง คุ้มครองและฟื้นฟูเซลล์ของร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม

หมายเหตุ
  1. หลายครั้งที่การดื่มสมุนไพรเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ก็ควรจะทำอย่างอื่นเสริมในการปรับสมดุลร้อนหรือเย็นของร่างกายด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพยิ่งขึ้น เช่น การปรับสมดุลด้านอิทธิบาท อารมณ์ อาหาร การออกกำลังกาย อากาศ เอนกายและเอาพิษออก ซึ่งรายละเอียดของการปรับสมดุลร้อน-เย็น ไม่สมดุล โดยใจเพชร มีทรัพย์ (หมอเขียว)
  2. ถ้าไม่มีย่านางหรือร่างกายไม่ถูกกับย่านาง ก็สามารถใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็นตัวอื่น ๆ แทนได้
ชื่อสามัญ : Bamboo grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels

ชื่อวงศ์ : Menispermaceae

ชื่ออื่น : จ้อยนาง (เชียงใหม่) เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว (กลาง) ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี)


ขอบคุณข้อมูลจาก : - http://www.sil5.net/  
                             - http://www.thaipost.net/
                             - หมอเขียว ณ สวนป่านาบุญ ดอนตาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น