วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มะขามป้อม

มะขามป้อม เป็นสมุนไพรที่คนอินเดียใช้มาเป็นพันๆ ปี ในฐานะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงสายตา บำรุงสมอง ซึ่งคนอินเดียเรียกมะขามป้อมว่า Amla หรือ Amalaka แปลว่า พยาบาล หรือ แม่ ซึ่งสะท้อน สรรพคุณทางยาอันมากมายของมะขามป้อมได้เป็นอย่างดี

ผลมะขามป้อม มีวิตามินซีสูงมากที่สุดในบรรดาพืชทุกชนิดที่มีในโลก ในผลมีสารป้องกันการเกิดออกซิไดซ์วิตามินซี ทำให้วิตามินซีคงตัวอยู่ได้นาน ไม่สลายตัวในความร้อนได้ง่าย

ผลมะขามป้อมมีสารในกลุ่ม แทนนินชื่อว่า emblicanins A และ B ที่มีฤทธิ์เป็นเช่นเดียวกับวิตามินซี แต่มีฤทธิ์แรงกว่าแต่ทนความร้อนและไม่สลายตัวง่ายเช่นเดียวกับวิตามินซี สารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน กำจัดพิษโลหะหนัก รักษาโรคลักปิดลักเปิด ทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์วิตามินซีอีกด้วย  ดังนั้น ท่านจึงไม่ต้องกังวลว่า การกินมะขามป้อมแปรรูปหรือมะขามป้อมแห้งจะไม่ได้ประโยชน์

คุณค่าทางอาหาร
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานสารอาหารของลูกมะขามป้อมสด เปรียบเทียบกับลูกมะขามป้อมแช่อิ่ม ในส่วนที่กินได้ ๑๐๐ กรัม และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้


สรรพคุณทางยา

แก้หวัด ผลมะขามป้อมมีสรรพ-คุณแก้หวัด แก้ไอได้ดี เป็นที่รู้กันในทุกประเทศที่มีมะขามป้อม จนปัจจุบันมีสิทธิบัตรจดในประเทศสหรัฐอเมริกาของตำรับยาที่มีส่วนผสมของ มะขามป้อมอยู่ระบุสรรพคุณในการแก้หวัด แก้ไข้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากวิตามินซีหรือสาร ในกลุ่มแทนนิน

เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปากคอแห้ง ให้ใช้ผลสด ๑๕-๓๐ ผล คั้นเอาน้ำ มาจากผล หรือต้มทั้งผลแล้วดื่ม แทนน้ำเป็นครั้งคราว

ไข้จากเปลี่ยนอากาศใช้มะขามป้อมสดตำคั้นน้ำดื่ม จะช่วยลดไข้ได้ ดื่มวันละ ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา น้ำคั้นมะขามป้อมเป็นยาเย็นช่วยลดความ ร้อน และระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยช่วยขับปัสสาวะและระบายท้อง

ไอ เจ็บคอ เสมหะติดคอปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าในมะขามป้อมมีสารที่ละลายน้ำได้มีฤทธิ์ละลายเสมหะ  โดยตำรับยาทำได้ง่ายๆ เพียงแต่ นำมะขามป้อมแห้งมาต้มแล้วแต่งรส มะขามป้อมที่จะนำมากินแก้ไอ เจ็บคอ ควรเลือกลูกที่แก่จัดจนผิวออกเหลือง
เมื่อมีอาการเป็นหวัด ไอ ให้นำมะขามป้อมสดมาเคี้ยวอมกับเกลือทุกครั้งที่มีการไอ ถ้าไม่ไอแต่ยังมีไข้อยู่ก็ควรอมมะขามป้อมเพื่อให้ชุ่มคอและขับเสมหะ เป็นการป้องกันการไอได้ด้วย

ละลายเสมหะ แก้การกระหายน้ำ ใช้ผลแก่จัด มีรสขม อมเปรี้ยว อมฝาด เมื่อกินแล้วจะรู้สึกชุ่มคอ ใช้สำหรับช่วยละลายเสมหะ กระตุ้นให้เกิดน้ำลาย จึงช่วยแก้การกระหายน้ำได้ดี หรือใช้ผลแห้งประมาณ ๖-๑๐ กรัม ถ้าใช้ผลสดประมาณ ๑๐ กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือคั้นเอาน้ำสำหรับดื่ม

ขับเสมหะ หรือช่วยระบายของเสีย ให้ใช้ผลสด ๕-๑๕ ผล ต้มหรือคั้นน้ำมาดื่ม

บำรุงเสียง

มะขามป้อมสดสามารถช่วยบำรุงเสียงได้ เพราะเวลาอม มะขามป้อมจะทำให้ชุ่มคอ คอไม่แห้ง เสียงจะสดใส นักร้องสมัยก่อนมักจะเฉือนลูกมะขามป้อมชิ้นหนึ่งมาอมไว้จนร้องเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้เสียงแห้ง

บำรุงผมผลแห้งของมะขามป้อมมีสรรพคุณ เป็นสารชะล้างอ่อนๆ คนอินเดียนิยมนำมา ใช้ทำเป็นแชมพูสระผม คนอินเดียเชื่อว่ามะขามป้อมบำรุงผม ช่วยทำให้ผมดกดำและป้องกันผมหงอกก่อนวัย ป้องกันผมร่วง
ในอินเดียมีการนำมะขามป้อมมาทำเป็นน้ำมันบำรุงให้ผมดกดำ ป้องกันการหงอกก่อนวัย โดยนำลูกมะขามป้อมมาฝานเป็นแว่นเล็กๆ ตากให้แห้งในที่ร่ม นำมาทอดในน้ำมันมะพร้าว ทอดจนเนื้อมะขามป้อมไหม้เกรียม แล้วกรองเก็บไว้ทาผมเป็นประจำ ยาน้ำมันนี้ ถ้าได้ เนื้อลูกสมอไทยและดอกชบาแดง ใส่ลงไปทอดด้วย จะทำให้น้ำมันมีสรรพคุณดียิ่งขึ้น วิธีทำก็ง่ายๆ  ขั้นตอนก็คือ นำลูกมะขามป้อมแห้ง ๑ กำมือ แช่ในน้ำ ๑ ขัน แช่ไว้ตลอดคืน เมื่อเวลาสระผมเสร็จแล้ว ให้เอาน้ำแช่มะขามป้อมนี้ล้างเป็นน้ำสุดท้าย มีการศึกษาพบว่าสารในมะขามป้อมช่วยกระตุ้นการงอกของผมได้ด้วย

บำรุงร่างกายให้แข็งแรงมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม เช่นเดียวกับสมอไทย จึงสามารถ แก้โรคต่างๆ ได้มากเช่นเดียวกับสมอไทย ตำรายาอินเดียยกย่องมะขามป้อมไว้มากว่าเป็นผลไม้บำรุงร่างกายที่ดีมาก ตำราบางเล่มถึงกับกล่าวว่า ถ้าคนอินเดียไม่มองข้ามมะขามป้อม คือเอามะขามป้อมมากินเป็นประจำวันละ ๑ ลูก ทุกวัน เขาเชื่อว่าคนอินเดียจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกว่านี้มากนัก ทั้งนี้เพราะมะขามป้อมบำรุงอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย คือ บำรุงผม สมอง ดวงตา คอ หลอดลม ปอด หัวใจ กระเพาะ ลำไส้ ตับ ไต ตับอ่อน ผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย ปรับประจำเดือนให้มาปกติ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ช่วยลดความดันเลือดสูง ปัจจุบันมีการศึกษาพบประโยชน์มากมายของมะขามป้อมในการลดความดัน ลดน้ำตาลและลดไขมันในเลือด

ช่วยควบคุมโรคเบาหวาน
ทางอายุรเวท พบว่าการ ดื่มน้ำมะขามป้อมคั้นสด ๑ ช้อนโต๊ะ (๑๕ ซีซี) กับน้ำมะระขี้นกคั้นสด ๑ ถ้วย ทุกวันเป็นเวลาสองเดือนสามารถกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้ การกินยาตำรับนี้ต้องมีการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และยาตำรับนี้ยังลดอาการแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวานได้ด้วย

ลักปิดลักเปิด

มะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก และเป็นวิตามินซีธรรมชาติ ที่มีสรรพคุณดีกว่าวิตามินซีสังเคราะห์
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทด-ลองให้คนกินยาเม็ดวิตามินซีกับกินมะขามป้อมเปรียบเทียบกัน พบว่า วิตามินซีจากมะขามป้อมถูกดูดซึมเร็วกว่าวิตามินซีเม็ด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในมะขามป้อมมีสารอื่นๆ ที่ช่วยพาวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว
มะขามป้อมที่ผ่านการต้ม หรือตากแห้ง ทำให้วิตา-มินซีลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่จะใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ถ้าเก็บไว้ไม่เกิน ๑ ปี

กระหายน้ำ
เมื่อรู้สึกคอแห้ง กระหายน้ำจัด ถ้าดื่มน้ำมากกะทันหันจะทำให้จุกเสียดไม่สบายได้ ถ้าได้อมมะขามป้อมสดๆ ก่อน อาการกระหายน้ำและคอแห้งอย่างแรงจะรู้สึกดีขึ้นทันที ไม่ทำให้ดื่มน้ำมากไป เหมาะแก่การเดินทางไกล วิ่งมาราธอน เวลาอมก็ใช้ฟันกัดลูกมะขามป้อมให้พอมีน้ำซึมออก มา แล้วดูดลงคอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด

ท้องผูก
คนที่ท้องผูกประจำ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถ้าได้กินมะขามป้อมแล้วอาการท้องผูกจะหายไป เนื่องจากมะขามป้อมมีรสฝาด จะทำให้กินยากไปสักหน่อย ควรปรุงรสให้อร่อย ด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าแคะเม็ดออก (กินแต่เนื้อ) ประมาณ ๑๐ ลูก ใส่พริก เกลือ น้ำตาล ตำพอแหลก กินต่างผลไม้ แต่ควรกินก่อนนอนหรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ ในขณะที่ท้องว่าง
วิธีลดความฝาดของมะขามป้อม ก็คือแช่น้ำเกลือ มีขั้นตอนดังนี้

ล้างมะขามป้อมให้สะอาด ลวกด้วยน้ำร้อน และนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัด แช่ไว้สัก ๒ วัน รสฝาดก็จะลดลง ยิ่งแช่นานรสฝาดก็ยิ่งหมดไป

ไข้ทับระดู
นำมะขามป้อมแห้งจำนวนเท่ากับอายุของผู้ป่วย ลูกสมอไทยแห้งจำนวนเท่ากับอายุของผู้ป่วย ใบมะกาแห้ง ๑ กำมือ เกลือนิดหน่อย ใส่น้ำท่วมยาต้มให้เดือดนาน ๑๕ นาที ในวันแรกที่กินให้กินเว้นระยะห่างทุก ๔-๖ ชั่วโมง ครั้งละ ๑ แก้ว วันต่อมาให้กินวันละ ๒ ครั้งครั้งละ ๑ แก้ว เช้า-เย็น กิน ๓ วันหาย หลังจากกินยาไปแล้ว ๑๒ ชั่วโมงอาการจะดีขึ้น คืออาการปวดหัวเมื่อยตัว ปวดท้อง ทุเลาลง

คันจากเชื้อราใช้รากมะขามป้อมสับเป็นชิ้นเล็กๆ พอประมาณ ต้มให้เดือดนาน ๑๕ นาที นำมาทาบริเวณที่มีเชื้อรา วันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากทาแล้วประ-มาณ ๒-๓ ชั่วโมงอาการคันจะค่อยๆ ลดลง และจะค่อยๆ หายไปภายใน ๑ สัปดาห์

น้ำกัดเท้า-ฮังกล้า
น้ำกัดเท้า หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า "ฮังกล้า" เกิดจากการถอน ต้นกล้าแล้วเอารากกล้าฟาดตีกับข้อเท้าให้ดินโคลนหลุดออกจากรากกล้า ต่อมาเท้าเกิดโรคตุ่มคันขึ้น จะมีอาการคันมาก ยิ่งเกาก็ยิ่งแตกทั่วรอบข้อเท้า ภาคอีสานเป็นกันมาก บางคนก็เรียกว่า "เกลียดน้ำ" ให้ใช้เปลือก ต้นมะขามป้อมตำให้ละเอียด ผสมน้ำพอเปียกชะโลมให้ทั่วรักษาได้

ถ้าเกามากจนหนังถลอก น้ำเหลืองไหล ปวดแสบปวดร้อน คือโรคเป็นหนักแล้ว ให้เอาลูกมะขามป้อมแก่ๆ สดๆ มาใส่ในโพรงเหล็กผาลไถนา ใส่น้ำให้เต็มโพรงเหล็กผาลนั้น ตั้งไฟจนมะข้ามป้อมเละ และมีสีดำเหนียว เมื่อเอามาทาแล้วยาจะแห้งเข้าจนดำหมดทั้งหลังเท้าที่แตกเป็นน้ำเหลืองไหล แผลนั้นจะค่อยๆ หายไปจนเป็นปกติ
นอกจากนี้แล้วก่อนลงนาหรือหลังจากขึ้นมาจากนา ชาวนาสมัยก่อนนิยมนำเปลือกต้นมะขามป้อมมาแช่เท้าเพื่อฆ่าเชื้อโรคและความฝาดของเปลือกมะขามป้อมยังช่วยตะกอนโปรตีนทำให้ผิวหนังของเท้าและข้อเท้าหนาขึ้น ทนทานต่อการเกิดน้ำกัดเท้ามากยิ่งขึ้น

บิด
ถ่ายเป็นบิด ใช้เปลือกต้นมะขามป้อม ต้มใส่ข้าวเปลือกเจ้าดื่มต่างน้ำ ตำราอินเดียบอกว่า ลูกมะขามป้อมใช้แก้ท้องเสียและบิดได้ดี ด้วย การนำมะขามป้อมสด ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ๓-๔ แก้ว ต้มให้เดือดนาน ๑๐-๒๐ นาที ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ทุกครั้งที่ถ่าย หรือดื่มทุก ๒-๔ ชั่วโมง
ใบมะขามป้อมมีสรรพคุณแก้บิดและท้องเสียได้เช่นกัน นำใบตำให้ละเอียด ดื่มครั้งละ ๑ ช้อนชา ทุก ๒-๔ ชั่วโมง ถ้าจะให้ดื่มง่ายควรผสมน้ำผึ้งเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม

ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อยนำลูกมะขามป้อมแห้ง ๓-๕ ลูก แช่ในน้ำ ๑ แก้ว ตลอดคืน ตื่นเช้าดื่มทั้งน้ำและกินเนื้อทุกวันจนกว่าอาการจะหาย มะขามป้อมยังแก้กระเพาะอาหารอักเสบและโรคกระเพาะอาหาร มีกรดมากเกินไปได้ด้วย
ถ้าจะใช้แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ให้กินผงลูกมะขามป้อมวันละ ๔ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา ก่อนอาหารและก่อนนอน
หลอดลมอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ใช้รากแห้ง ๑๕-๓๐ กรัมต้มกับน้ำ ดื่มแทนน้ำอย่างน้อยวันละ ๓-๔ ครั้ง

แก้น้ำเหลืองเสีย

คนที่มีน้ำเหลืองเสีย คือคน ที่เป็นแผลแล้วหายช้า แผลมีน้ำเหลืองไหลมาก หรือผิวหนังถูกอะไร นิดหน่อยก็คันแล้ว หรืออยู่ดีๆ คันทั่วตัว ในคนที่มีน้ำเหลืองเสียควรกิน มะข้ามป้อม ๑ ลูก หลังอาหารเป็นประจำทุกวัน

แก้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นคัน ใช้ใบสด ปริมาณพอเหมาะ ต้มกับน้ำปริมาณหนึ่งเท่าตัว ใช้อาบหรือ ชะล้างส่วนที่เป็น ให้ทำบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้ผิวหนังดีขึ้น

ขับพยาธิ
ใช้น้ำคั้นลูกมะขามป้อม ๑ ช้อนชา ผสมกับน้ำกะทิมะพร้าว ๑ ถ้วย ดื่มวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน ๑ สัปดาห์ ขับพยาธิตัวตืด และพยาธิปากขอ

หิด ผื่นคัน
นำเมล็ดในลูกมะขามป้อม มาเผาจนเป็นถ่าน บดให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำมันพืช พอให้ยาเหลว ข้น ทาวันละ ๒-๓ ครั้ง น้ำมันนี้ใช้ทาดับพิษน้ำร้อนลวก และใช้รักษาแผลได้ด้วย

แก้ปวดฟัน
แก้ปวดฟัน ใช้ปมกิ่งก้านต้มกับน้ำ ใช้อมและบ้วนปาก บ่อยๆ จะบรรเทาอาการปวดฟัน

ชื่อสามัญ : มะขามป้อม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica L.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
ชื่ออังกฤษ : Emblic Myrobalans, Malaccatree
ชื่ออื่นๆ : กันโตด (เขมร - กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)


ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์หมอชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น