วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการคือ มีคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลท แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ ไนอาซิน วิตามินซี อยู่ปริมาณพอสมควร แต่บทบาททางสุขภาพที่สำคัญของกระเจี๊ยบเขียวเกิดจาการที่กระเจี๊ยบเขียวมีกลูตาไทโอน (glutathione) ซึ่งถือว่าเป็นราชาของสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี และยังร่ำรวยใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนของพืชผักที่ร่างกายย่อยไม่ได้และเส้นใยที่ละลายน้ำได้ เพคทิน (pectin) และเมือก (mucilage) ซึ่งเกิดจากสารประกอบ acetylated acidic polysaccharide และกรดกาแลคทูโลนิค (galactulonic acid) ดังนั้น การกินกระเจี๊ยบเขียวจึงช่วยระบบขับถ่าย ระบบดูดซึมสารอาหาร ลดความเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป



ผู้ป่วยโรคเบาหวานและคลอเลสเตอรอลสูง
เส้นใยที่ละลายน้ำในกระเจี๊ยบเขียวจะช่วยลดการดูดซึมของคลอเลสเตอรอลและน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย และช่วยทำให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง จึงเป็นการช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับกับน้ำดีอยู่ เป็นผลให้ลดไขมันและคลอเลสเตอรอลได้ คล้ายกับการกินยาลดคลอเลสเตอรอลและไขมันชื่อ “สแตติน”

ผู้ป่วยโรคมะเร็งสารเมือกหรือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ในฝักกระเจี๊ยบเขียว เมื่อลงสู่ลำไส้ใหญ่จะช่วยให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (พรีไบโอติกแบคทีเรีย) แบคทีเรียที่มีประโยชน์นี้จะช่วยลดปริมาณพิษที่ผลิตโดยบรรดาแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
นอกจากนี้สรรพคุณต้านมะเร็งของกระเจี๊ยบเขียวยังเกิดจากสารกลูตาไทโอน สารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกาย ปัจจุบันยังมีความนิยมที่ใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น (เพราะสารกลูตาไทโอนสามารถกดการทำงานของของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีได้ชั่วคราว)

รักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดคนไทยรู้จักการใช้กระเจี๊ยบเขียวรักษาพยาธิตัวจี๊ดมาแต่ครั้งอดีต โดยการนำกระเจี๊ยบเขียวมาต้มกินเป็นผักติดต่อกันหลายๆ วัน ความรู้นี้เป็นความรู้ที่หมอยาพื้นบ้านไทยทุกภาครู้เหมือนๆ กัน ใช้เหมือนๆ กัน แสดงว่ากระเจี๊ยบเขียวต้องได้รับความนิยมทั้งคนกินและคนรักษา จึงสืบต่อความรู้กันมานาน

โรคพยาธิตัวจี๊ดเกิดจากพยาธิตัวกลมในสกุล Gnathostoma คนเกิดโรคจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิซึ่งอยู่ในเนื้อดิบของกุ้ง ไร เนื้อปลา หมู ไก่ เป็ด กบ เมื่อคนได้รับตัวอ่อนพยาธิเข้าไปถึงระยะหนึ่ง ตัวอ่อนจะไชไปตามบริเวณต่างๆ เช่น ไชไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังก็เกิดอาการบวมเคลื่อนที่ หรือเข้าสมองก็เกิดสมองอักเสบ เป็นต้น ขณะนี้ยังไม่มียาที่ได้รับการยอมรับว่ารักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดได้ผลดี แต่ถ้าไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาฆ่าพยาธิติดต่อกันนาน ๒๑ วัน มีผู้ป่วยหลายรายที่แพทย์ช่วยทำให้ถ่ายพยาธิออกมาได้ ถ้าป่วยเป็นโรคนี้ก็ควรที่จะไปพบแพทย์และกินกระเจี๊ยบเขียวเป็นผักติดต่อกันสัก ๒ อาทิตย์ ในประเทศไทยมีรายงานการทดลองพบว่า สารสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวด้วยแอลกอฮอล์สามารถลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ดในหนูถีบจักรได้

รักษาโรคกระเพาะ เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ
สรรพคุณเด่นที่สำคัญในการใช้เป็นยารักษาโรคของกระเจี๊ยบเขียวคือ การใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะและโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งโรคนี้ทำให้เกิดอาการท้องผูกกับท้องเสียสลับกัน และยังช่วยรักษาอาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหารและแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ปี ๒๕๔๗ มีรายงานการศึกษาพบว่า สารประกอบไกลโคซิลเลท (Glycosylated Compounds ซึ่งประกอบด้วย polysaccharides and glycoproteins) ในกระเจี๊ยบเขียว มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคที่เรีย Helicobacter pylori ในการเกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร เจ้าเชื้อแบคที่เรียตัวนี้เองเป็นเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะ สารไกลโคซิลเลทจะมีฤทธิ์ลดลงเมื่อถูกความร้อน

รักษาอาการท้องผูก ช่วยกำจัดสารพิษออกจากลำไส้กระเจี๊ยบเขียวประกอบด้วยเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำและละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติช่วยในการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเส้นใยที่ละลายน้ำได้จะมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษแล้วขับถ่ายออกไปทางอุจจาระ จึงไม่เหลือสารพิษตกค้างในลำไส้ ดังนั้นการรับประทานผลกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำจะช่วยให้ขับถ่ายได้คล่อง สบายท้อง สมองผ่องใส เพราะมีงานวิจัยมาแล้วว่าถ้าผนังลำไส้สะอาดสมองจะผ่องใส

รักษาแผลและผิวหนังอักเสบยางจากผลสดกระเจี๊ยบเขียวจะช่วยรักษาแผลสด เมื่อถูกของมีคมบาดให้ใช้ยางจากฝักกระเจี๊ยบทาแผล แผลจะหายไวและไม่เป็นแผลเป็น ส่วนผลอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวมีเมือกลื่นทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้ง ชาวบ้านบางพื้นที่นำผลอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวมาพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อน


2 ความคิดเห็น:

  1. เพลี้ย ลง ตายหมดเลย(มีอยู่ 3 ต้น) T T

    เด๋วว่าจะปลูกใหม่เอาให้เยอะกว่าเดิม

    ตอบลบ
  2. ใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดา ฉีดพ่นในตอนเย็น จะช่วยลดอัตราการทำลายพืชของแมลงลงได้มาก

    ตอบลบ