วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการกินเจ

ประโยชน์ของการกินเจในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ

  1. ให้พลังเย็น โดยได้รับพลังงานจากฟรุกโตส ซึ่งมีในผัก ผลไม้ เป็นพลังที่ไม่ทำร้ายร่างกาย 
  2. ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้าง เพราะกากใยในพืช ผัก ผลไม้ ช่วยระบบการย่อยและระบบขับถ่าย ทำให้ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ รวมถึงโรคที่เกิดจากระบบขับถ่ายผิดปกติต่างๆ เช่น โรคริดสีดวงทวาร 
  3. หากรับประทานประจำจะช่วยฟอกโลหิตในร่างกายให้สะอาด เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมช้าลง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส มีอายุยืนยาว สายตาดี แววตาสดใส ร่างกายแข็งแรงมีความต้านทานโรค มีความคล่องตัว รู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด 
  4. ทำให้ปราศจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคตับ โรคลำไส้ โรคเก๊าต์ ฯลฯ เพราะได้รับอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นสาเหตุ และยังช่วยป้องกันโรคเหล่านี้ 
  5. อวัยวะหลักของร่างกาย และอวัยวะเสริมทั้ง 5 ทำงานได้อย่างเต็มสมรรถภาพ อวัยวะหลัก ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด อวัยวะเสริมทั้ง 5 ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี 
  6. ผู้ที่กินเจจะมีร่างกายที่สามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งได้แก่ ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีที่เป็นอันตรายอื่นๆ มลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งมีปะปนอยู่ในอากาศ รวมถึงแหล่งอาหารและน้ำดื่ม 

จะเห็นได้ว่าในทางการแพทย์นั้น การกินเจมีประโยชน์ในการรักษา ที่สามารถพิสูจน์และมองเห็นได้ชัดเจนกว่าประโยชน์ในทางศาสนา แม้ว่าการปฏิบัติจะไม่เคร่งครัดเท่ากับความต้องการประโยชน์ทางด้านศาสนา

เลือกกินผักให้ถูกหลักกับการกินเจ

หากต้องการกินเจให้ถูกหลัก เราควรรับประทานผักผลไม้ต่าง ๆ ให้ครบ 5 สีในแต่ละวัน ตามสีของแต่ละธาตุทั้ง 5 ดังนี้

1. สีแดง แดงส้ม แสด ชมพู เช่น มะเขือเทศ แครอท พริกสุก มะละกอ แตงโม ฯลฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ จะช่วยลดคอเลสเตอรอลส่วนเกิน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสขม ที่จะไปทำอันตรายต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต 

2. สีดำ น้ำเงิน หรือ ม่วง เช่น ถั่วดำ เผือก มะเขือม่วง เห็ดหูหนู ลูกหว้า องุ่น เป็นสัญลักษณ์ของธาตุน้ำ มีประโยชน์ต่อไต ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเค็ม 

3. สีเหลือง ทั้งเหลืองแก่ และเหลืองอ่อน เช่น ฟักทอง ถั่วเหลือง มะม่วง ข้าวโพด กล้วย ทุเรียน เป็นสัญลักษณ์ของธาตุดิน มีประโยชน์ในการบำรุงม้าม แต่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสหวาน 

4. สีเขียว ทั้งสีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไม้ หากรับประทานมาก ๆ จะช่วยบำรุงตับ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับ ควรงดทานอาหารรสเปรี้ยว 

5. สีขาว เช่น ลูกเดือย ผักกาดขาว มะพร้าว น้อยหน่า ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุโลหะ มีประโยชน์ต่อปอด สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปอด ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเผ็ด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ทานอาหารเจ ควรทานอาหารให้ครบทั้ง 5 สี ตามธาตุทั้ง 5 โดยสลับกันไปในแต่ละวัน เพื่อให้ได้สารอาหาร และคุณค่าที่ครบถ้วน

ผักต้องห้ามในเทศกาลกินเจ

การกินเจก็คล้ายกับการกินอาหารมังสวิรัติ คือการงดกินเนื้อสัตว์ เน้นกินผักเป็นหลัก แต่การกินเจมีข้อห้ามปลีกย่อยเพิ่มเติมมาอีก คือ ห้ามรับประทานผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ เนื่องจากผักเหล่านี้มีกลิ่นฉุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ ดังนี้
  1. กระเทียม ทั้งหัวกระเทียม ต้นกระเทียม ส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานมาก 

  2. หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไตได้ แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย รวมทั้งนัยน์ตาพร่ามัว มีกลิ่นตัว 

  3. หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม 

  4. กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ 

  5. ใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ ของเสพติดมึนเมา อะไรต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุโลหะในร่างกาย และการทำงานของปอด